20 ไอเดียจัดเคาน์เตอร์ครัวสวยๆ ของคนรักครัว และเทคนิคเลือกเคาน์เตอร์ให้เหมาะกับการใช้งาน

สำหรับคนที่รักห้องครัวและชื่นชอบการทำอาหาร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เคาน์เตอร์ครัวสวยๆ” นั้นถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญไม่ต่างอะไรกับโต๊ะรับประทานอาหาร ตู้ เตียง โซฟา เพราะนอกจากจะช่วยให้ทำอาหารได้ง่าย สะดวกแล้ว ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยคุมธีมทั้งหมดของห้องครัวว่า อยากให้ออกมาให้รูปแบบสไตล์ไหน และในปัจจุบันก็ยังมีเคาน์เตอร์ครัวหลากหลายรูปแบบทั้งแบบก่อปูน บิวท์อิน (Built-in) เคาน์เตอร์ตัวแอล (L) เคาน์เตอร์แบบไอส์แลนด์ (Island) และเคาน์เตอร์แบบสำเร็จรูปซึ่งแต่ละแบบเค้าก็มีข้อดี-ข้อเสียที่ค่อนข้างต่างกัน และยังเหมาะกับครัวแต่ละแบบไม่เหมือนกันด้วย วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงเคาน์เตอร์แต่ละแบบให้ฟังกัน เพื่อช่วยการตัดสินใจค่ะ 

เคาน์เตอร์ครัวเริ่มมาจากไหน?

สำหรับครัวของไทยนั้นในสมัยก่อนยังไม่มีการใช้เคาน์เตอร์แบบนี้ค่ะ โดยเฉพาะครัวไทยในสมัยก่อนมักจะเป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพราะในครัวมักจะต้องต้ม ผัด แกง ทอดที่อยู่กับความร้อนตลอด และนอกจากนี้ครัวยังมักจะถูกตั้งในมุมที่ปิดบังสายตาจากแขกและเพื่อนบ้านด้วยเพื่อป้องกันกลิ่น เสียงดังรบกวนจากครัว เช่น เสียงผัดเคาะกระทะ กลิ่นโขลกน้ำพริก และอาจจะมีภาพไม่เรียบร้อยเวลาที่ต้องนั่งก้มๆ เงยๆ ขูดมะพร้าวบนกระต่าย ดังนั้นครัวไทยสมัยก่อนจึงนิยมทำให้ครัวเปิดที่ยังไม่มีเคาน์เตอร์ และประกอบอาหารบนแคร่ไม้เตี้ยๆ หรือพื้นมากกว่า แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยก็เปลี่ยนไปมากถึง มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกที่นิยมทำครัวในแบบครัวปิดและมีการแบ่งสัดส่วนให้เรียบร้อยมากขึ้นเคาน์เตอร์แบบห้องครัวยุโรบจึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย

ประโยชน์ของเคาน์เตอร์ครัว

  1. ทำให้ครัวของเรามีพื้นที่จัดเก็บสิ่งของและอุปกรณ์มากขึ้น 
  2. ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับจัดเตรียม และปรุงอาหาร
  3. ทำให้ห้องครัวของเรามีความสวยงาม เป็นระเบียบและมีเอกลักษณ์เฉพาะ
  4. เคาน์เตอร์บางส่วนสามารถใช้แทนโต๊ะรับประทานอาหารได้ ช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน 
  5.  

ประเภทของเคาน์เตอร์ครัวที่นิยมในปัจจุบัน

1.เคาน์เตอร์สำเร็จรูป 

เป็นเคาน์เตอร์ที่ามารถหาซื้อได้ง่ายตามช้อปวัสดุสร้างบ้านหรือตกแต่งบ้าน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเคาน์เตอร์ที่ถูกออกแบบมาแล้วจากโรงงาน มีรูปแบบที่ตายตัว อาจจะมีสีและฟังก์ชันการใช้งานที่ไม่รองรับทุกไลฟ์สไตล์ ไม่สามารถออกแบบเพิ่มเติมได้ สามารถรับน้ำหนักได้ปานกลาง บางรุ่นสามารถถอดประกอบใหม่ได้ นิยมวางแบบเดี่ยวหรือคู่ หรือจะนำไปจัดวางแบบตัวแอล หรือวางสไตล์เคาน์เตอร์ไอสแลนด์ (Island) ก็ได้ค่ะ 

**เคาน์เตอร์ไอสแลนด์ (Island) คือ เคาน์เตอร์ที่ถูกออกแบบมาให้วางอยู่กลางห้องครัว สามารถใช้เป็นพื้นที่เตรียมอาหาร หรือรับประทานอาหารก็ได้ ช่วยเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน เคาน์เตอร์สไตล์นี้เหมาะสำหรับห้องครัวในบ้านที่มีพื้นที่กว้างๆ 

2.เคาน์เตอร์บิ้วอิน (build-in) 

เป็นเคาน์เตอร์ชนิดที่ส่วนใหญ่มักจะถูกสั่งให้ออกแบบมาตามความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก สามารถกำหนดได้ทั้งวัสดุขนาด ความสูง สี ลวดลาย และฟังก์ชันการใช้งานได้หมดทุกอย่าง เหมาะสำหรับห้องครัวที่ต้องการเอกลักษณะเฉพาะ หรือมีพื้นที่จำกัด ข้อดีของเคาน์เตอร์แบบบิ้วอินคือ สามารถเลือกทุกอย่างได้ตามใจผู้ใช้งาน เมื่อนำไปจัดวางแล้วจะช่วยให้บ้านสวยและเป็นระเบียบมาก แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเคลื่อนย้ายยากเนื่องจากการติดตั้งที่มักจะติดไปกำแพงส่วนนั้นๆ ของห้องไปเลย หรือการออกแบบที่เฉพาะทำให้ไม่สามารถย้ายหรือแยกส่วนไปใช้คู่กับเคาน์เตอร์หรีอเฟอร์นิเจอร์ส่วนอื่นได้ 

3.เคาน์เตอร์ปูน

เคาน์เตอร์อันนี้จะมีวิธีการติดตั้งอยู่ 2 แบบคือ 

  1. การหล่อคอนกรีต โดยช่างจะใช้อิฐมอญแดงก่อขึ้นฐานจากนั้นก็จะทำการเสริมเหล็กภายใน หรือหากต้องการเคาน์เตอร์ลอยติดผนังช่างก็จะใช้วิธีเจาะเหล็กเสริมเชื่อมติดกับผนัง และเมื่อเตรียมพร้อมแล้วก็จะเทคอนกรีตลงไป 
  2. การใช้แผ่นคอนกรีตมวลเบา วิธีการทำคือ ใช้แผ่นคอนกรีตมวลเบาประกอบให้เป็นรูปร่างของเคาน์เตอร์ที่ต้องการแล้าทาติดด้วยปูนกาวจากนั้นก็ฉาบปูนทับให้เรียบ

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบหล่อคอนกรีตหรือแบบแผ่นคอนกรีตมวลเบาข้อดีของเคาน์เตอร์ปูนก็คือความแข็งแรงทนทาน ทนต่อแรงกด แรงกระแทก แรงทุบต่างๆ นานาได้อย่างดี เหมาะสำหรับบ้านเน้นการทำอาหารบ่อยๆ และใช้แรงเยอะ เช่นตำน้ำพริก เครื่องแกง แต่ข้อเสียของเคาน์เตอร์ปูนคือ ต้องทำความสะอาดให้ดีเพราะจะเหม็นอับได้ง่ายกว่าเคาน์เตอร์ชนิดอื่นๆ และยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพราะเป็นก่อขึ้นจากฐานหรือผนังบ้าน หากจะเปลี่ยนต้องทุบออกอย่างเดียวเท่านั้น 

เคาน์เตอร์ครัวแบบไหนดี เทคนิคเลือกเคาน์เตอร์ให้เหมาะกับการใช้งาน

ถึงแม้ว่าห้องครัวเป็นห้องที่จำเป็นและขาดแทบไม่ได้สำหรับทุกๆ บ้าน แต่ว่าแต่ละบ้านนั้นก็มีข้อจำกัดหรือความจำเป็นต่อการใช้งานไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจจะมีห้องครัวไว้เพียงอุ่นอาหารและทำอาหารเล็กน้อยๆ บางคนอาจจะใช้ครัวเป็นประจำทุกวัน ปรุงอาหารจัดเต็มในทุกๆ มื้อ ดังนั้นการเลือกเคาน์เตอร์ครัวที่เหมาะสมกับก็ควรพิจารณาจากความถี่และไลฟ์สไตล์ และจำนวนของสมาชิกในครอบครัวด้วย เช่น 

  • สมาชิก 1-2 คน ไลฟ์สไตล์คือ อยู่คอนโด หรือ นิยมทานมื้อหนักนอกบ้าน ส่วนในบ้านจะทำอาหารเล็กน้อย เน้นการอุ่นอาหาร ชงกาแฟ ปิ้งขนมปัง อาจจะเหมาะกับครัวเล็กๆ ที่มีเคาน์เตอร์สำเร็จรูปที่ติดตั้งง่าย ใช้งานสะดวก ไม่ต้องอุปกรณ์หรือต้องรับน้ำหนักเยอะๆ มีเพียงเคาน์เตอร์แค่ 1-2 ชิ้นสำหรับตั้งไมโครเวฟและเครื่องชงกาแฟก็เพียงพอแล้ว 
  • สมาชิก 1-2 คน ไลฟ์สไตล์เป็นคนชอบทำอาหาร และอยู่คอนโด อาจจะเหมาะกับเคาน์เตอร์แบบบิ้วอิน (build-in) เพื่อออกแบบเคาน์เตอร์ให้เข้าและพอดีกับสถานที่ๆ จำกัด และเน้นการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ทำครัว 
  • สมาชิก 3-4 คน ไลฟ์สไตล์คือ ทำอาหารในบ้านสลับกับการทานอาหารนอกบ้าน สามารถเลือกเคาน์เตอร์ได้ทุกแบบ เพราะมีพื้นที่ที่ไม่ได้จำกัดเหมือนคอนโด และการมีเคาน์เตอร์เยอะๆ ก็จะช่วยให้ห้องครัวมีระเบียบ มีพื้นที่จัดเก็บและสามารถวางอุปกรณ์ได้เยอะ 
  • ครอบครัวใหญ่ ไลฟ์สไตล์คือเน้นการทำครัวแบบจัดเต็มทั้งอาหารไทยและอาหารนานาชาติ ทำทานเองทุกมื้อ ลงมือเองทุกขั้นตอนแบบจัดหนักจัดเต็ม อาจจะเหมาะกับห้องครัวใหญ่ใช้เคาน์เตอร์แบบปูน เพราะสามารถรับแรงกระแทกทั้งตำทั้งโขกทั้งทุบได้ดีกว่าเคาน์เตอร์ชนิดอื่นๆ 

ดังนั้นสรุปได้ว่าการเลือกเคาน์เตอร์ครัวนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องใหญ่ความสำคัญอย่างมากเพราะนอกจากจะช่วยตกแต่งห้องให้สวยงามแล้ว ยังเกี่ยวข้องกันการใช้ชีวิตประจำวันและสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย รู้อย่างนี้แล้ว พอจะบอกตัวเองได้หรือยังคะว่า? ครอบครัวของคุณเหมาะกับเคาน์เตอร์ครัวแบบไหน? 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง